การสังเกตยาเสื่อมสภาพ
ยาเม็ด
มีลักษณะแตกกร่อน กะเทาะ สีเปลี่ยนหรือซีดจาง เม็ดยาบวม มีรอยด่าง
ยาเม็ดเคลือบ
ยาเม็ดเคลือบน้ำตาลอาจมีการเยิ้มเหนียวหรือมีกลิ่นผิดไปจากเดิม
ยาเม็ดแคปซูล
แคปซูลแข็ง: แคปซูลมักจะบวมโป่งอาจมีจุดเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูล ภายในแคปซูลจะสังเกตเห็นว่าผงยาเปลี่ยนสี
จับกันเป็นก้อน
แคปซูลนิ่ม : เปลือกแคปซูลเยิ้มเหลวเหนียวกว่าปกติ แคปซูลเปื่อยทะลุทำให้ตัวยาไหลออกมากด้านนอก
ยาผงแห้ง
ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติไม่สามารถละลายได้และถ้าที่ผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำแสดงว่า
ยาเตรียมนั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้
ยาน้ำเชื่อม
มีลักษณะขุ่น เกิดตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเหม็นเปรี้ยว
ยาน้ำแขวนตะกอน
ตะกอนจับกันเป็นก้อน เกาะ ติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป
ยาน้ำอีมัลชั่น
ปกติเมื่อตั้งทิ้งไว้จะแยกเป็นชั้น และเมื่อเขย่าจะเข้ากันดีแต่ถ้ายาเสื่อมแล้วเมื่อเขย่าจะไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
ยาครีม
มีลักษณะแยกชั้น ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี หรือมีกลิ่นหืน
ยาขี้ผึ้ง
เกิดการแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยาเตรียม มีความข้นหนืดเปลี่ยนไป และมีกลิ่นเหม็นหืน
ยาเจล
เนื้อเจลใสจะเปลี่ยนเป็นขุ่นและไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
ยาหยอดตา
เปลี่ยนจากน้ำใสๆเป็นน้ำขุ่น (ยกเว้นยาบางชนิดที่เป็นยาแขวนตะกอน) หรือหยอดตาแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ
….หน่วยวิชาการ งานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน