โรคพยาธิหอยโข่ง Angiostrongyliasis
โรคพยาธิหอยโข่ง เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า แองจิโอสตรองจิลัส แคนโตเนนซิส Angiostrongylus cantonensis ซึ่งตามปกติเป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู
รูปร่างลักษณะ
พยาธิตัวเต็มวัยมีรูปร่างเรียว ยาวประมาณ 2-3 ซม ตัวเมียจะมีลายเป็นเกลียวขาวสลับดำอยู่ในตัว ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าและที่หางจะมีแผ่นบางๆเล็กๆ แผ่ออกมา
รูปพยาธิ Angiostrongylus cantonensis ตัวผู้ ขนาด 15-19 x 0.26 มม. รูปร่างยาวเรียวปลายหางมี bursa ขนาดเล็ก
รูป พยาธิ A. cantonensis แสดงส่วน bursa ซึ่งมีขนาดเล็กแผ่ออกทางด้านท้อง มีอวัยวะเพศ (spicule) 2 อัน ขนาดไม่เท่ากัน
รูปพยาธิ A. cantonensis ตัวเมียขนาด 21-25 x 0.33 มม. ปลายหางของพยาธิทู่ มีลักษณะพิเศษที่เห็นได้ชัดคือสีแดงสลับสีขาวพันเป็น เกลียวคล้ายเครื่องหมาย ของร้านตัดผม
รูปพยาธิ A. cantonensis ตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่ออยู่ในกล้ามเนื้อของหอย และตับของตะกวด
วงจรชีวิตพยาธิ
วงจรชีวิตพยาธิหอยโข่ง
แหล่งระบาดของโรคพยาธิ
โรคพยาธิหอยโข่งพบได้ทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกลุ่มประชาชนที่ชอบรับประทานหอยน้ำจืดดิบๆ สุกๆ
วงจรชีวิตของพยาธิ
พยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู ตัวอ่อนระยะนี้ไชเข้าหอยทากหรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง (หอยปัง) หอยขม หอยเชอรี่ แล้วเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ เมื่อหนูกินหอย พยาธิจากหอยจะเข้าไปในสมองหนู เจริญต่อไปเป็นพยาธิตัวแก่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู และออกไข่ซึ่งจะพัฒนาต่อไปตามวงจรชีวิต หากคนรับประทานหอยดิบๆ สุกๆ ซึ่งมรพยาธิระยะติดต่อ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา
รูปตะกวด Varanus bengalensis เป็น paratenic host ของ A. cantonensis ที่ตับของตะกวดจะพบพยาธิระยะติดต่อ เคยมีรายงานว่าคนกินตับตะกวดแล้วเกิดโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบเนื่องจากพยาธิตัวนี้
อาการ
หลังจากรับประทานอาหารที่มีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป 1-4 สัปดาห์ จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะปวดศีรษะมาก คอแข็ง หลังแข็ง ชัก อาจเป็นอัมพาต ซึม หมดสติ หรือตายได้ ถ้าพยาธิไชเข้าตา ตาอาจจะอักเสบ มัว และบอดได้
การวินิจฉัย
– วินิจฉัยจากอาการทางคลินิกข้างต้น จากประวัติการรับประทานอาหารดิบๆ สุกๆ เช่น หอยพาหะ กุ้ง และสัตว์พาหะ อื่นๆ
– ตรวจพบพยาธิในน้ำไขสันหลังหรือจากตา
– ตรวจพบเม็ดเลือดขาวชนิดอิโอซิโนฟิลจำนวนมากในน้ำไขสันหลัง
– ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อพยาธิโดยวิธีอิมมิวโนวินิจฉัย
การป้องกัน
– ไม่รับประทานอาหารดิบๆ สุกๆ พืช ผัก ผลไม้ หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด
– ควบคุมหนูและหอยพาหะ
– ให้สุขศึกษาถึงการระบาด การติดเชื้อและการป้องกัน
การรักษา
ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง