ไข้เลือดออก 2022
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกว่า 50,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 60 ราย (ตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 – 2564) ถึงแม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่ดูสูงมาก แต่โรคไข้เลือดออกก็ยังคงเป็นโรคที่ต้องระมัดระวังคนในครอบครัวอยู่ในทุกๆปี
แต่ช้าก่อน! วันนี้แอดมินจะไม่ได้พูดถึงที่ไปที่มาของไข้เลือดออก แต่จะเป็นการแนะนำหากท่านมีอาการที่เข้าข่ายโรคไข้เลือดออก ในช่วงโควิด ปี 2022 นี้ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
1. เช็คอาการก่อนว่ามีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนัง หรือไม่
2. ทำการตรวจ ATK ซึ่งเป็นพื้นฐานในช่วงนี้อยู่แล้ว หากผลเป็นลบให้สังเกตอาการที่อาจจะรุนแรงของไข้เลือดออก เช่น เลือดออกผิดปกติ ปวดท้องมาก หน้ามืด เป็นลม สับสน ตัวเย็น เป็นต้น (หากผลเป็นบวกให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของ COVID – 19 ต่อไป)
3. ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน ในขั้นตอนนี้ให้เช็ควัน และเวลาการให้บริการของแต่ละ รพ.ให้ดี ซึ่งทางรพ. อาจจะให้ท่านทำการตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันผล
4. เมื่อผลยืนยันของท่านเป็นลบ และไม่มีประวัติเสี่ยงโควิด แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาโรคอื่นๆที่ทำให้มีอาการไข้ และทำการรักษาตามโรคที่เป็น (ขอให้ท่านทำตามขั้นตอนนี้โดยเคร่งครัด)ให้ แจ้งประวัติอาการให้ครบถ้วน ถ้าคนรอบข้างมีอาการเข้าข่ายไข้เลือดออกให้แจ้งทาง รพ. หรือ แพทย์ พยาบาลที่ตรวจด้วย จากนั้นก็จะเข้าขั้นตอนการให้การรักษาของแต่ละรพ.ต่อไป
ต้องบอกก่อนนะครับว่าขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงกระบวนการคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพว่า หากเราเป็นไข้หรือมีอาการอื่นๆ แล้วไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง COVID-19 เราควรต้องปฏิบัติตนอย่างไร ยังไงก็ตามช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ขอให้ทุกท่านดูแลสุขภาพ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID -19 กันอย่างเคร่งครัดด้วยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน อ.นพ.ดร. สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ
อ่านความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกโดยละเอียดได้ที่ : https://www.tropmedhospital.com/knowledge/dengue.html