มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า (Malaria)
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคนมี 4 ชนิด คือ 1.ฟัลซิปารัม 2.ไวแวกซ์ 3.มาลาเรียอี 4.โอวาเล (Plasmodium falciparum, Plasmodium vivax, Plasmodium malariae และ Plasmodium o valae) เชื้อมาลาเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ ชนิดฟัลซิปารัม และไวแวกซ์
ซึ่งชนิดฟัลซิปารัม จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงอาจถึงแก่ขีวิตได้ ส่วนชนิดไวแวกซ์ และโอวาเล สามารถซ่อนอยู่ในตับได้นาน และออกสู่กระแสเลือดได้ในภายหลัง ทำให้กลับเป็นโรคซ้ำได้อีก
แหล่งระบาด
มาลาเรียเป็นโรคในเขตร้อน ซึ่งจะพบมากในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเซีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในบางประเทศ โดยเฉพาะในแถบแอฟริกาจะพบการติดเชื้อมาลาเรียมาก เนื่องจากเป็นแหล่งโรค ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางเสมอ เพราะในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันมาลาเรีย
ในประเทศไทยแหล่งระบาดของมาลาเรียอยู่ตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และชุมพร
การติดต่อ
ติดต่อสู่คนโดยการถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียกัด โดยยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าร่างกายคน หลังจากนั้นเชื้อจะมีการแบ่งตัวมากขึ้นทำให้เกิดอาการของโรคมาลาเรียได้
วงจรชีวิต
เชื้อมาลาเรียที่กระเพาะอาหาร
เชื้อมาลาเรียระยะติดต่อในต่อมน้ำลายของยุง
ระยะที่เชื้ออยู่ในตับคน
เชื้อมาลาเรียถูกปล่อยจากตับเข้าสู่กระแสเลือด
เชื้อมาลาเรียชนิดมีเพศ
อาการ
โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการภายหลังได้รับเชื้อแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน โดยอาการของผู้ป่วยคือจะมีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว บางรายมีการปวดท้อง ท้องเสียได้ และในรายที่รุนแรงจะมีการซีด เหลืองมากขึ้น ซึม มีภาวะไตวาย ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อมาลาเรียแล้ว ถ้าคุณมีอาการไข้ โดยเฉพาะไข้สูงหนาวสั่นขณะอยู่ในป่าหรือเพิ่งเดินทางกลับจากป่า คุณควรจะไปรับการตรวจเลือดทันที และต้องบอกแพทย์ว่ามีประวัติเดินทางเข้าป่าเสมอ การตรวจเชื้อมาลาเรียในเลือดเป็นการตรวจยืนยันที่ดีที่สุดว่ามีติดเชื้อมาลาเรียหรือไม่ ทางโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเองมีบริการตรวจหาเชื้อมาลาเรียตลอด 24 ชั่วโมง
การวินิจฉัย
โดยการพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย
การรักษา
มาลาเรียเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ไม่ควรซื้อยารักษามาลาเรียกินเอง เพราะอาจจะได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ผลทำให้มีการดื้อยา หรือกินยาไม่ครบ อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เป็นโรครุนแรงขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงแพทย์จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ดูแลในโรงพยาบาล
การป้องกัน
เมื่อจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีแหล่งระบาดของมาลาเรีย ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ดังนี้
- สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ
- ทายากันยุง
- นอนในมุ้ง (ถ้าใช้มุ้งชุบน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน)
เชื้อฟัลซิปารัม
ยุงก้นปล่อง
ยุงก้นปล่องกินเลือด