Heat Stroke (ฮีทสโตรก) โรคลมแดด "ร้อนเกินไป อาจตายได้"
Heat Stroke (ฮีทสโตรก) โรคลมแดด เป็นโรคที่น่ากลัว ถ้าหากวินิจฉัยช้าหรือรักษาได้ไม่ทัน ถึงขั้นเสียชีวิตได้!!!
สาเหตุ:
ในชีวิตประจำวันของเรายากที่จะหลีกเลี่ยงความร้อนที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งโรคลมแดดอาจมีที่มาจากความร้อน 2 แหล่งคือ
1. ความร้อนจากภายนอก เช่น แสงแดด ที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่น ในห้องที่อับๆ อากาศไม่ถ่ายเท มีความร้อนสูง หรือในรถ เป็นต้น
2. ความร้อนจากภายใน คือ ความร้อนภายในร่างกาย ที่เกิดจากการเผาผลาญจะทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกาย
ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง โดยปรกติอุณหภูมิร่างกายเราจะอยู่ที่ 36-37.5 องศาเซลเซียส แต่พอเจอกับสภาพอากาศร้อนๆ ร่างกายก็จะพยายามหาทางจัดการกับความร้อน ร่างกายจะปรับตัวมีการสูบฉีดโลหิต และหัวใจเต้นแรงขึ้น เลือดจะไปเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น เส้นเลือดที่ผิวหนังขยายตัว ต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น ทำให้มีเหงื่อออกมากร่างกายก็จะเสียน้ำ พอร่างกายขาดน้ำมากๆ ร่างกายจะนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญแทน พอถึงจุดนึงเลือดก็จะไปเลี้ยงไม่พอ จากนั้นไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่กรองของเสีย และกำจัดเกลือแร่ ก็จะทำงานหนักของเสียในร่างกายก็คั่งค้าง ทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปรกติไปจนทำให้เกิดไตวาย
ความแตกต่างระหว่างโรคลมแดด และเป็นลม :
คนที่เป็นโรคลมแดดตัวจะแห้ง เนื่องจากเหงื่อออกไปเยอะจนไม่มีจะออกแล้ว และตัวจะร้อนมากอุณหภูมิร่างกายพุ่งสูงมาก อาจสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
กลุ่มเสี่ยงโรคลมแดด :
– เด็ก และผู้สูงอายุ
– ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือโรคผิวหนังบางชนิดที่ระบายเหงื่อได้ไม่ดี เป็นต้น
– กลุ่มผู้ทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
– ผู้ที่มีอาการไม่สบายอยู่ก่อน เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งขาดน้ำอยู่ก่อนแล้ว
– ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
การป้องกัน :
– หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนานๆ หรือห้องปิดที่มีความร้อนสูงอากาศไม่ถ่ายเท โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ
– พักผ่อนให้เพียงพอ
– ดื่มน้ำให้เพียงพอ
– สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจน อึดอัด และระบายอากาศได้ดี
การดูแลผู้ป่วยโรคลมแดด เมื่อพบเจอผู้ป่วยโรคลมแดดควรปฏิบัติดังนี้ :
– ย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้ามคนทั่วไปมามุง
– ถ้าเสื้อผ้าระบายอากาศไม่ดีให้ปลดเสื้อเล็กน้อย
– นำผ้าชุบน้ำธรรมดา หรือน้ำเย็นมาเช็ดตัว ตามแขน ขา ข้อพับ ซอกคอ ข้อแขนต่างๆ
– ถ้ารู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำได้ แต่ถ้าหากไม่รู้สึกตัว อย่าเพิ่งให้ดื่ม เพราะอาจจะสำลัก และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อได้
ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ผศ.ดร.นพ.สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ