ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

**********โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต เป็นหน่วยงานในคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ตึกเวชกรรมเมืองร้อน อาคาร 3 ชั้น มีศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก โรงพยาบาลเปิดรับรักษาเฉพาะผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลศิริราช หรือสถานพยาบาลอื่น ๆ ในสมัยนั้นมีหอผู้ป่วยเพียงหอเดียว เป็นหอผู้ป่วยรวม ใช้ฉากกั้นระหว่างผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิง มีจำนวน 20 เตียง

**********ในปีต่อมามีผู้ป่วยมาขอรับบริการที่โรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงได้มีการจัดส่วนหนึ่งของหอผู้ป่วยทำเป็นแผนกตรวจผู้ป่วยนอก นับเป็นจุดเริ่มต้นของแผนกผู้ป่วยนอก หลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ 5 ชั้น เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่มาขอรับบริการ โดยสร้างอาคารเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และได้ทำการย้ายผู้ป่วยไปยังอาคารใหม่ มีการดัดแปลงห้องผู้ป่วยเดิมเป็นแผนกผู้ป่วยนอก และขยายการบริการไปเรื่อยๆจนครบทั้งหมด 5 ชั้น จากช่วงที่เริ่มเปิดโรงพยาบาล มีเตียงผู้ป่วยเพียงแค่ 20 เตียง แต่ได้มีการพัฒนาโรงพยาบาลเรื่อยมาจนในปัจจุบันมีความสามารถในการรองรับผู้ป่วยได้ถึง 250 เตียง แบ่งเป็น เตียงผู้ป่วยสามัญ เตียงผู้ป่วยพิเศษ เตียง ICU เป็นต้น

โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

**********โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้การบริการรักษาโรคเขตร้อน ได้แก่ โรค มาลาเรีย โรคพยาธิต่าง ๆ โรคตับ โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา นอกจากนี้ยังมีให้บริการตรวจโรคมาลาเรียตลอด 24 ชั่วโมง และรักษาโรคทางอายุรกรรมทั่วไป และเปิดให้บริการการรักษาพยาบาลคลินิคพิเศษต่าง ๆ เช่น คลินิคพยาธิตัวจี๊ด คลินิคเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง (Travel Clinic) คลินิคโรคทางเดินอาหาร โรคตับ คลินิคเวชศาสตร์แผนจีน (ฝังเข็ม) หน่วยเวชศาสตร์แผนไทย แต่เนื่องจากโรคพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง จึงไม่มีแผนกศัลยกรรม แผนกสูตินรีเวช แผนกอุบัติเหตุ

**********นอกจากภารกิจในการให้บริการคนไข้แล้ว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนยังมีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนคณะเวชศาสตร์เขตร้อนในงานวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้งการสอน การวิจัย และเป็นที่ศึกษาดูงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

Timeline

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504

เปิดให้บริการ ที่ตึกเวชกรรมเมืองร้อนเป็นอาคาร 3 ชั้น โดยศาสตราจารย์นายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต เฉพาะแผนกผู้ป่วยในจำนวน 1 หอผู้ป่วย 20 เตียง  ใช้ฉากกั้นระหว่างผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิง และเป็นผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลศิริราช

 

กันยายน พ.ศ. 2505

จุดเริ่มแรกของแผนกผู้ป่วยนอก โดยจัดส่วนหนึ่งของหอผู้ป่วยในเป็นที่ตรวจ

   

พฤศจิกายน พ.ศ. 2507

ก่อสร้างอาคารใหม่ 5 ชั้น ย้ายผู้ป่วยไปยังอาคารใหม่ และดัดแปลงห้องผู้ป่วยเดิมเป็นแผนกผู้ป่วยนอก ขยายบริการมีหอผู้ป่วยจำนวน 5 หอผู้ป่วย

ปี พ.ศ. 2510

ขยายห้องรับผู้ป่วยภายใน ทำให้รับผู้ป่วยได้ 100 เตียง

ปี พ.ศ. 2517

เปิดบริการ หอผู้ป่วยเด็กที่ชั้น 6 มีจำนวนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งหมด 170 เตียง

23 กุมภาพันธ์ 2539

โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนได้ขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 250 เตียง ให้บริการรักษาโรคเขตร้อน ได้แก่ โรคมาลาเรีย โรคพยาธิต่างๆ โรคตับ โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราให้บริการรักษาโรคทางอายุรกรรมทั่วไปด้วย เปิดให้บริการคลินิกพิเศษ เช่น คลินิกพยาธิตัวจิ๊ด คลินิกโรคทางเดินอาหาร โรคตับ โรคหู คอ จมูก คลินิกโรคผู้สูงอายุ คลินิกโรคไตและทางเดินปัสสาวะ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกวัยทอง คลินิกสุขภาพเด็กดี คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง หน่วยเวชศาสตร์แผนจีน (ฝังเข็ม)  หน่วยเวชศาสตร์แผนไทย

เปลี่ยนสถานภาพจากหน่วยงานในสังกัดภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิค ฯเป็น โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในสังกัดคณะฯ ฐานะเทียบเท่าภาควิชา

ปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2544

เปิดบริการคลินิกเวชศาสตร์เวชศาสตร์แผนไทย และเปิดบริการคลินิกเวชศาสตร์เวชศาสตร์แผนจีน

 

ปี พ.ศ. 2548

เปิดบริการคลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง (Travel Clinic)

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เปิดบริการ คลินิกไข้ (Fever Clinic) รักษาผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลัน เปิดบริการ 24  ชั่วโมง

ปี พ.ศ. 2556

เปิดให้บริการอาคาราชนครินทร์ พร้อมการให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

   

ปี พ.ศ.2556

เปิดบริการทรอปเมดโฮมแคร์( Trop med home care ) ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองสังคมผู้สูงอายุ

ข่าวประชาสัมพันธ์ : Information


  • ปิดให้บริการคลินิกพิเศษนอกเวลา (TMD) ในวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 16.00-20.00 น. และวันเสาร์ เวลา 08.00-12.00 น. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
  • ทุกวันศุกร์แรกของเดือน งานกายภาพบำบัดจะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 และปิดรับบัตรเวลา 11.00 น. เนื่องจากมีการประชุมประจำเดือนของหน่วยงาน
  • วันหยุดประจำเดือนพฤษภาคม: วันที่ 4,6 และ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เนื่องในวันฉัตรมงคล วันวิสาขบูชา และวันพืชมงคล