โรคพยาธิตัวจี๊ด Gnathostomiasis

สาเหตุของโรค
โรคพยาธิตัวจี๊ดมีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมที่มีชื่อเรียกว่า พยาธิตัวจี๊ด และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แนธโธสโตมา สไปนิจิรุม Gnathostoma spinigerum

พยาธิมีรูปร่างลักษณะอย่างไร
ตัวแก่ของพยาธิทั้งตัวผู้และตัวเมียยาวประมาณ 1.5-3.0 ซม. มีลักษณะลำตัวกลมยาว หัวคล้ายลูกฟักทองทั้งหัวและตัวของพยาธิพวกนี้จะมีหนามตัวอ่อนของพยาธิในระยะติดต่อ มีลักษณะคล้ายพยาธิตัวเต็มวัยแต่มีหนามน้อยกว่า มักจะพบขดตัวอยู่ในถุงหุ้มซึ่งฝังตัวอยู่ใน เนื้อของสัตว์พาหะ ส่วนพยาธิที่พบในคนจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ และมีขนาดยาวประมาณ 0.4-0.9 ซม.

แหล่งระบาดของพยาธิและโรค
ในประเทศไทยมีสัตว์ประมาณ 44 ชนิด ที่ตรวจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่ ได้แก่ ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาไหล ปลาดุก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด สัตว์จำพวกนก รวมทั้งเป็ดและไก่ สัตว์จำพวกหนู กระแต ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรคพยาธิตัวจี๊ดมีหลายชนิด รวมทั้งสุนัขและแมว การสำรวจปลาไหลในเขตจังหวัดภาคกลาง พบว่ามีการกระจายของพยาธิตัวจี๊ดอยู่หลายจังหวัด เช่น อ่างทอง อยุธยา ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี เป็นต้น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารหมักที่ทำจากปลาน้ำจืด เช่น ส้มฟัก ปลาร้า ปลาเจ่า หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ อาจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่เช่นกัน

วงจรชีวิต
ตัวแก่ของพยาธิทั้งตัวผู้และตัวเมียจะอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของสุนัขและแมว หลังจากพยาธิผสมพันธุ์แล้ว พยาธิตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ เมื่อไข่ลงน้ำจะฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวกุ้งไร (cyclops) จะกินตัวอ่อนระยะนี้และไปเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 เมื่อปลากินกุ้งไรที่มีพยาธิ พยาธิจะเจริญในปลาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ ถ้าสุนัขหรือแมวกินปลานี้เข้าไป พยาธิก็ไปเจริญเป็นตัวแก่ในกระเพาะอาหาร แต่ถ้าคนกินปลาซึ่งมีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป พยาธิจะคืบคลาน หรือไชไปตาม อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ยังไม่มีรายงานว่าพยาธินี้เจริญเป็นตัวแก่จนสามารถออกไข่ได้ในคน

การติดต่อ
โรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ดนี้ สามารถติดต่อได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อที่ปะปนอยู่ในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกโดยเฉพาะปลาน้ำจืด หรืออาจติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์โดยไชผ่านทางรก นอกจากนี้ พยาธิยังสามารถใชเข้าทางผิวหนังบริเวณที่เป็นแผล โดยเฉพาะในคนบางกลุ่มที่ใช้เนื้อสัตว์สดๆ เช่น กบ ปลา พอกแผล เพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น

อาการ
อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการที่เกิดจากพยาธิไชอยู่ใต้ผิวหนัง ตามลำตัว แขน ขา และบริเวณใบหน้าทำให้บวมแดงบริเวณนั้นหรือเห็นเป็นรอยทางแดงๆ ตามแนวที่พยาธิไชผ่านไป อาการบวมแดงนี้ จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วจะหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา หลังจากนั้นอาจจะบวมขึ้นมาใหม่ในบริเวณอื่นใกล้ๆกัน แถบเดียวกันบางครั้งทำให้เกิดเป็นก้อนคล้ายเนื้องอกตามอวัยวะต่างๆ นอกจากที่ผิวหนังแล้ว พยาธิอาจไชไปอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ เช่น ตา ปอด กระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะถ้าไปที่สมองจะทำให้อาเจียน คอแข็ง ปวดตามเส้นประสาทได้

การวินิจฉัย
การจะบอกว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดแน่นอน ต้องตรวจพบตัวพยาธิ ซึ่งอาจจะไชออกมาทางผิวหนังเอง แต่โดยทั่วไปมักไม่พบพยาธิแม้จะผ่าเข้าไปในบริเวณที่บวม ดังนั้นการที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ จึงมักดูอาการของโรคว่ามีอาการเจ็บ ปวด บวมเคลื่อนที่ได้ และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือไม่ควรมาพบแพทย์เมื่อสงสัยว่าเป็นพยาธิตัวจี๊ด แพทย์อาจเจาะเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยต่อไป

พยาธิตัวจี๊ด

วงจรชีวิตพยาธิตัวจี๊ด

ผู้ป่วยโรคพยาธิตัวจี๊ด

ผู้ป่วยเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด แสดงการบวมรอบดวงตา

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Post comment